mrhistory


            ขอเกริ่น ก่อนที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของงานเวชระเบียน เรามาเริ่มต้นด้วยประวัติโรงพยาบาลศิริราช พอสังเขปกันก่อน 

           เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2429 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริให้สร้างโรงพยาบาลเพื่อรักษาผู้ป่วย บริเวณพระราชวังบวรสถานภิมุข ที่เรียกติดปากว่า วังหลัง ซึ่งเป็นที่รกร้าง (บริเวณ รพ.ศิริราชปิยะฯ และ ศิริราช ปัจจุบัน) ให้สร้างเป็นโรงพยาบาลใหญ่หรือโรงพยาบาลหลวง โดยมีคณะคอมมิตตีเป็นผู้ดูแลจัดการ 

พระราชวังบวรสถานภิมุข
(ต่อมาเป็นพื้นที่ของสถานีรถไฟบางกอกน้อย-ธนบุรี
ปัจจุบันเป็น รพ.ศิริราชปิยะฯ , รพ.ศิริราช)


            แต่ที่ ใกล้ๆกันนั้นมีโรงเรียนสตรีแห่งแรกที่เปิดโดยมิชชันนารีอเมริกันอยู่ก่อนแล้ว ชื่อว่า โรงเรียนสตรีวังหลัง ดังนั้น โรงพยาบาลก็เลยถูกเรียกกันว่า โรงพยาบาลวังหลังอยู่ระยะหนึ่ง  โดยโรงพยาบาลในระยะแรกหรือเรือนคนไข้นั้น สร้างเป็นโรงเรือนไม้หลังคามุงจาก และโรงเรือนหลังคามุงกระเบื้อง

รงเรียนสตรีวังหลัง (ก่อตั้ง พ.ศ. 2417)



 
เรือนคนไข้




             ในเวลาต่อมา เมื่อ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2430 เจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งมีพระชนมายุ 1 ปี 6 เดือน ได้สิ้นพระชนม์(link) ด้วยโรคบิด โดยทรงมีกำหนดการพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง 
              เมื่อเสร็จสิ้นพิธี ได้พระราชทานพระเมรุ โรงเรือนและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียง ทั้งหมด เพื่อให้นำมาใช้ในการสร้างโรงพยาบาล 

เจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์


โรงเรือนไม้ที่สร้างจากพระราชทานพระเมรุ




             ต่อมา พระอรรคชายาเธอพระองค์เจ้าเสาภาคนารีรัตน์ได้สิ้นพระชนม์ จึงมีพระราชโองการก่อสร้างตึกใหม่ และพระราชทานนามว่า ตึกเสาวภาค

ตึกเสาวภาค 
 


ต่อมาชาวอังกฤษในประเทศไทยได้ร่วมกันเรี่ยรายเงินสร้างตึกคนไข้อีกตึกหนึ่ง ชื่อว่า ตึกวิคตอเรีย เพื่อเป็นที่ระลึกกับพระราชินีวิคตอเรียประเทศอังกฤษ 

 
ตึกวิคตอเรีย


ปี พศ. 2431 ได้ยกเลิกคณะคอมมิตตีและจัดตั้งกรมพยาบาลแทน โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์เป็นอธิบดีกรมพยาบาล และพระราชทานนามโรงพยาบาลหลวงแห่งนี้ว่า " โรงศิริราชพยาบาล " ตามพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ 


พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าศรีเสาวภางค์



                   กำหนดเปิดรักษาผู้ป่วยเป็นทางการวันวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2431 โดยหมอแผนโบราณคนไทย เช่น หมอยง(พระยาพิษณุประสาทเวช) , หมนิ่ม (พระยาประเสริฐศาสตร์ดำรง) ส่วนหมอสมัยใหมชาวอเมริกัน เช่น นายแพทย์ดีเอช เฮย์  หรือ นายแพทย์ ยอร์ช แมคฟาแลนด์ ที่ถือเป็นปฐมาจารย์ของการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย เป็นต้น

               ต่อมา สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอุลยเดช ทรงสนพระทัยการการสาธารณสุขของประเทศ เสด็จไปศึกษาวิชาสาธารณสุขที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและทรงเป็นตัวแทนรัฐบาลในการเจรจากับมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือด้านการสาธารณสุขและการแพทย์   โดยปรับปรุงโรงพยาบาลและสร้างตึก สร้างห้องเรียนต่างๆ มากมาย นอกจากนั้น ยังจัดส่งแพทย์พยาบาลไปอบรมดูงานในหลายๆที่

          สมเด็จฯ ทรงเสียสละนอกจากพระวรกาย พระกำลัง พระสติปัญาแล้ว ยังทรง สละทรัพย์ส่วนพระองค์ ซื้อที่ดินโดยรอบเพื่อสร้างเป็นโรงเรียนและหอพักของพยาบาล ทรงสละทรัพย์ส่วนพระองค์จ้างพยาบาลชาวต่างประเทศมาปรับปรุงกิจการพยาบาลและยังอุทิศเวลาไปสอนวิชาชีววิทยาให้กับนักศึกษาเตรียมแพทย์รุ่นแรกที่ยังขาดครูอาจาย์


สมเด็จพระมหิดลธิเบศร์ อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชนก


นายจอนดี ร๊อกกี้เฟลเลอร์ 
ผู้ก่อตั้งมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์



การช่วยเหลือของมูลนิธิร๊อกกี้เฟลเลอร์และการเสียสละของสมเด็จพระบรมราชชนก ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของโรงพยาบาลและโรงเรียนแพทย์ให้เป็นโรงพยาบาลชั้นนำ และผลิตนักศึกษาออกไปอยู่ในมาตรฐานชั้นดี 

ในเวลาต่อมาได้เข้ามาช่วยเหลือในการจัดตั้งโรงเรียนแพทย์ โดยไม่เก็บค่ารักษาใดๆ ยกเว้นผู้ที่ต้องการช่วยบริจาคเพื่อการกุศลนี้เท่านั้น

            ปี พ.ศ. 2432 โรงเรียนแพทย์ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมๆกับสถานที่ในการจัดเก็บแฟ้มเวชระเบียนผู้ป่วย และงานเวชระเบียน ก็ค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ณ เวลานั้น

                           แรกเริ่มเดิมทีนั้น งานเวชระเบียน ยังไม่มีรูปร่างหน้าตาดังเช่นในปัจจุบัน  ในสมัยก่อนนั้นครั้งที่โรงพยาบาลศิริราชเริ่มเปิดให้บริการใหม่ๆ ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดทำหน้าที่เก็บแฟ้มประวัติการรักษาผู้ป่วย 
                ในครั้งนั้นแฟ้มเวชระเบียนผู้ป่วย มักจะเรียกกันติดปากว่า " รายงานผู้ป่วย "  หรือถ้าเป็นแฟ้มผู้ป่วยนอก ก็เรียก  " โอพีดีการ์ด "  ซึ่งแต่ก่อนนั้นผู้ป่วยก็ยังไม่มากเหมือนสมัยนี้ สถานที่จัดเก็บก็สามารถหาได้โดยง่าย กล่าวโดยคร่าว ๆ ดังนี้

                  ก่อนปี พ.ศ. 2485  แฟ้มเวชระเบียนผู้ป่วย มักจัดเก็บไว้รวมกันทุกภาควิชา  ภายในห้องใต้เพดาน ที่ตึกอำนวยการ

                  พ.ศ. 2485   ภาควิชาสูติ-นรีเวช เริ่มแยกเก็บแฟ้มเวชระเบียนผู้ป่วยไว้ในที่ภาควิชาของตนเอง  และต่อมาภาควิชาอื่น ๆ ก็เก็บแฟ้มผู้ป่วยไว้ที่ภาควิชาตนเองบ้าง

                  พ.ศ. 2502  ก่อตั้งคณะกรรมการรายงานและสถิติผู้ป่วย ร.พ. ศิริราช มีคณะกรรมการ จากภาควิชาต่าง ๆ คือ 
                 1. พ.ญ.ตระหนักจิต หะริณสุต   ประธานกรรมการ
                 2. ศจ.นพ.ทองน่าน วิภาตะวณิช รองประธานและผู้แทนภาควิชาอายุรฯ
                 3. น.พ.ทองนอก นิตยสุทธิ์   รองประธานและผู้แทนภาควิชาศัลย ฯ
                 4. ศจ.นพ.สรรค์ ศรีเพ็ญ รองประธานและผู้แทนภาควิชาสูติ ฯ
                 5. ศจ.พญ. เฉิดฉลอง เนตรศิริ รองประธานและผู้แทนภาควิชากุมาร ฯ
                 6. พ.ญ. ผิว ลิมปพยอม  รองประธานและผู้แทนภาควิชาจักษุ ฯ และเลขานุการ


 พ.ศ. 2504   กำเนิด " หน่วยกลางรายงานและสถิติ " 

                เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์ของข้อมูลสถิติผู้ป่วยเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ได้หลาย ๆ ด้าน  ดังนั้น ในปีนี้โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การอนามัยโลก โดย  Dr. Lowell A Woodbury  ได้เข้ามาช่วยก่อตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับแฟ้มผู้ป่วยและข้อมูลสถิติของโรงพยาบาลขึ้น หน่วยงานนี้มีชื่อเรียกว่า  หน่วยกลางรายงานและสถิติ  และมอบหมายให้ ศจ.นพ.ทองน่าน วิภาตะวณิช เป็นผู้ควบคุมดูแล 
และให้ พ.ญ.วินิตา วิเศษกุล เป็นหัวหน้าหน่วย 
มีสำนักงานอยู่ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์ 
ซึ่งจะถือเป็นการก่อกำเนิดของงานเวชระเบียนเป็นทางการ ก็ว่าได้

ศจ.นพ.ทองน่าน วิภาตะวณิช


           ครั้งนั้น มีการรับเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติงาน จำนวน 6 คน  มาฝึกอบรมเกี่ยวกับการกายวิภาค การผ่าตัด โรค และ Terminology  นอกจากนั้นยังส่งไปฝึกการใช้เครื่องจักร เครื่องเจาะบัตร ที่บริษัท ไอ.บี.เอ็ม.  ฝึกการให้รหัสและการเก็บรายงานผู้ป่วย  ต่อมาได้ใช้ห้องชั้นล่างปีกซ้ายของตึกอำนวยการเป็นสำนักงาน และ Dr. Woodbury ก็ย้ายมาทำงานที่ รพ.ศิริราช

              พ.ศ. 2505 องค์การอนามัยโลกได้จัดการประชุมสัมมนาเกี่ยวกับสถิติระหว่างโรงพยาบาลประเทศต่าง ๆ ในภาคเอเชียอาคเนย์ ผลจากการสัมนาครั้งนั้น
            
 
               พ.ศ. 2506  ศจ.นพ.ทองน่าน วิภาตะวณิช  ได้บรรจุแพทย์มาช่วยดูแลประจำหน่วยกลางรายงานสถิติ เพิ่มอีก 1 ท่าน คือ พ.ญ.สมพร เอกรัตน์ ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าหน่วยฯ  (พ.ญ.สมพร เอกรัตน์ เคยได้ทุนโคลัมโบ ไปศึกษา Health Services and Administration ที่มหาวิทยาลัย Leeds ประเทศอังกฤษ)

               พ.ศ. 2507  สถาบันไชน่าเมดิคัลบอร์ด แห่งนิวยอร์ค (China Medical Board of Now York) ให้ทุนการศึกษาแก่ พ.ญ. วินิตา วิเศษกุล(หัวหน้าหน่วยฯ)        ไปศึกษาวิชาสถิติ ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และดูงานการเก็บรายงานตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ในสหรัฐ เป็นเวลา 2 ปี และได้รับเครื่องคิดเลขไฟฟ้ากลับมา 1 เครื่อง

               พศ. 2507-2508  รพ.ศิริราช ได้เริ่มจัดอบรมพนักงานเวชระเบียน (Medical Record Officer Training Course) ขึ้นมาเป็นเวลา 1 ปี ที่ ร.พ.ศิริราช ระหว่าง มิ.ย. 2507 – มี.ค. 2508  มีนักศึกษาดูงานจากประเทศต่าง ๆ เข้าอบรม จำนวน  9   คน คือ      
  • พม่า                       1         คน      
  • เนปาล                    1         คน      
  • อัฟกานิสถาน        2         คน      
  • อินโดนิเซีย             1         คน      
  • ไทย                        4         คน  จากหน่วยงานดังนี้
          - กรมการแพทย์     1  คน
          - ร.พ.เชียงใหม่        1  คน
          - ร.พ.จุฬา               1  คน
          - ร.พ.ศิริราช           1  คน  (ส่งคุณสุภา วีระวัฒน์ ซึ่งต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง                                                             หัวหน้าแผนกเวชระเบียน ปี 2539)


                 พ.ศ. 2509  น.ส.เสริมศรี บุญเสริม ซึ่งเป็นพนักงานสถิติคนหนึ่งของหน่วยกลางรายงานสถิติ  ได้ทุนจากองค์การอนามัยโลกไปศึกษา Medical Record Training Course ที่ประเทศพม่า  

                 พ.ศ. 2511 กำเนิดชื่อ แผนกเวชระเบียนและสถิติ  
                 หน่วยกลางรายงานและสถิติ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น แผนกเวชระเบียนและสถิติ
(Medical Records and Statistics Department) โดยมีสถานที่ปฏิบัติงานและสถานที่เก็บแฟ้มผู้ป่วย อยู่ที่ตึกผู้ป่วยนอก (เก่า) ริมน้ำ ชั้น 3 
โดยมี พญ.สมพร เอกรัตน์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเวชระเบียนและสถิติ
              
                   นอกจากนั้นแล้ว ในปีเดียวกันนี้ คณะแพทยศาสตร์ฯ ซึ่งผลิตแพทย์ได้ปีละ 200 คน , พยาบาล ,ผู้ช่วยพยาบาล 200 คน และบุคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ 300 คน  ดังนั้น ปริมาณของงานและข้อมูลต่าง ๆ จึงมีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตามลำดับ ดังนั้นในปีนี้เอง คณะแพทยฯ จึงได้เริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้ในโรงพยาบาลเป็นครั้งแรก

                   โดยนำมาติดตั้งที่แผนกเวชระเบียนและสถิติ รับบุคลากรระดับปริญญาตรีมาปฏิบัติงานด้านคอมพิวเตอร์และสถิติเพื่อประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลทางการแพทย์ต่าง ๆ มากมาย  

                  พ.ศ. 2516  พ.ญ.สมพร เอกรัตน์ ได้รับเชิญไปเป็นที่ปรึกษาทางด้านสถิติขององค์การอนามัยโลก ณ ประเทศอินโดนีเซีย และปีเดียวกัน พ.ญ. สมพร เอกรัตน์ ได้เป็นผู้แทนของประเทศไทยไปประชุมสถิติระหว่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น  

                   พ.ศ. 2517  พ.ญ.สมพร เอกรัตน์ ได้รับเชิญไปเป็นที่ปรึกษาสถิติทางการแพทย์ ณ ประเทศมาเลเซีย

                   พ.ศ. 2527   กำเนิดหน่วยงานคู่แฝด
                   เมื่อคอมพิวเตอร์มีบทบาทสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  คณะแพทยฯ จึงตัดสินใจก่อตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ศิริราช  ขึ้นโดยใช้บุคลากรของแผนกเวชระเบียนและสถิติในมาปฏิบัติงาน และให้แผนกเวชระเบียนและสถิติเป็นหน่วยงานเดียวกันกับศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์   โดยมีผู้บริหาร  ดังนี้

1. ศจ.นพ.สุนทร ตัณฑนันท์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.ศูนย์ปฎิบัติการคอมพิวเตอร์
2. รศ.นพ.จรัล เกรันพงษ์ ดำรงตำแหน่ง รอง ผอ.ศูนย์ปฎิบัติการคอมพิวเตอร์
3. พญ.สมพร เอกรัตน์  ดำรงตำแหน่ง  หัวหน้าแผนกเวชระเบียนและสถิติ
4. นส.นันทยา  แก้วรัตนปัทมา ดำรงตำแหน่ง นักสถิติ แผนกเวชระเบียนและสถิติ
5. นส.อุไรรัตน์ สุบรรณวิลาศ ดำรงตำแหน่ง นักสถิติ แผนกเวชระเบียนและสถิติ


 
ศจ.นพ.สุนทร ตัณฑนันท์ 




รศ.นพ.จรัล เกรันพงษ์




พญ.สมพร เอกรัตน์



นส.นันทยา  แก้วรัตนปัทมา




นส.อุไรรัตน์ สุบรรณวิลาศ





 
แผนกเวชระเบียนและสถิติ และ ศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 
เมื่อครั้งยังเป็นหน่วยงานเดียวกัน อยู่ที่ตึกผู้ป่วยนอก(เก่า)ริมเจ้าพระยา  ชั้น 3 
ปัจจุบันเป็นตึกชัยนาทนเรนทร
( รูปถ่ายเมื่อครั้งเปิดศูนยฯ คอมพิวเตอร์ เมื่อ ปี พ.ศ. 2527 )


                     ต่อมาภายหลังเพื่อความเหมาะสมในการปฏิบัติงาน 
คณะแพทยศาสตร์ฯ จึงมีคำสั่งให้ แผนกเวชระเบียนและสถิติ 
และศูนย์ปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ศิริราช แยกส่วนราชการ
ออกจากกันอย่างเป็นทางการ 
และแผนกเวชระเบียนและสถิติ ก็พัฒนาเรื่อยมา 
จนเป็นงานเวชระเบียน ในทุกวันนี้


 พ.ศ. 2511                  พญ.สมพร   เอกรัตน์   
                                   ดำรงตำแหน่ง  หัวหน้าแผนกเวชระเบียนและสถิติ

พญ.สมพร   เอกรัตน์



พ.ศ. 2537                 รศ.นพ.วิชัย รุ่งปิตะรังสี
                                   ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าเจ้าหน้าที่เวชระเบียน
 

                                   คุณสุภา วีระวัฒน์
                                   ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเวชระเบียนและสถิติ                  


รศ.นพ.วิชัย รุ่งปิตะรังสี  


คุณสุภา วีระวัฒน์  



พ.ศ. 2539   แผนกเวชระเบียนและสถิติ
                     เปลี่ยนชื่อเป็น "
งานเวชระเบียน
 

 

พ.ศ. 2541         รศ.นพ.สถาพร มานัสสถิตย์ 
                           ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าเจ้าหน้าที่เวชระเบียน
 

                        
                           คุณวราภรณ์ วีระสุนทร
                           ดำรงตำแหน่ง หัวหน้างานเวชระเบียน



รศ.นพ.สถาพร มานัสสถิตย์


คุณวราภรณ์ วีระสุนทร



พศ. 2544         รศ.นพ สิงห์เพ็ชร สุขสมปอง
                          ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าเจ้าหน้าที่เวชระเบียน

                           คุณปานทิพย์ สวัสดิ์มงคล   
                           ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่เวชระเบียน  



รศ.นพ.สิงห์เพ็ชร สุขสมปอง



พ.ศ. 2549               คุณปานทิพย์ สวัสดิ์มงคล  ดำรงตำแหน่ง
                                 หัวหน้าเจ้าหน้าที่เวชระเบียน และ หัวหน้างานเวชระเบียน  

                                 คุณวันดี วันศรีสุธนน์
                                 ดำรงตำแหน่ง รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่เวชระเบียน

                                  กำเนิดหน่วยรหัสโรค
                                  และ งานรับส่งเอกสารเวชระเบียน 
   
คุณปานทิพย์ สวัสดิ์มงคล 


คุณวันดี วันศรีสุธน





ปี 2553                  คุณปทุมมาศ เชี่ยวเชิงงาน 
                                ดำรงตำแหน่ง  หัวหน้างานเวชระเบียน 
 

                                พร้อมกับยกเลิกตำแหน่ง หัวหน้าเจ้าหน้าที่เวชระเบียน
                                และ ยกเลิกตำแหน่ง รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่เวชระเบียน 

คุณปทุมมาศ เชี่ยวเชิงงาน 



ปี 2559 - ปัจจุบัน        คุณกัญญาพร ตรงสุจริต 
                                       ดำรงตำแหน่งหัวหน้างานเวชระเบียน

คุณกัญญาพร ตรงสุจริต

 

  
รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น 
โดย นันทยา แก้วรัตนปัทมา
อดีตหัวหน้าหน่วยรายงานสถิติทางการแพทย์ งานเวชระเบียน


ปรับปรุง เพิ่มเติมข้อมูลใหม่ และภาพประกอบ
โดย จรินทร์ ต่ายคำ
หน่วยธุรการและสนับสนุน งานเวชระเบียน

ขอขอบพระคุณ
ศาสตราจารย์นายแพทย์ทองน่าน วิภาตะวนิช
และผู้ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลทุก ๆ ท่าน

ข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบ 
  • หนังสืออนุสรณ์ 84 ปีศิริราช (พิมพ์ปี พศ. 2518) 
  • หนังสือที่ระลึกวันเปิดศูนย์ฯ คอมพิวเตอร์ศิริราช (พิมพ์ปี พศ.2527) 
  • เว็บไซต์ ศิริราช 130 ปี
  • คลังภาพถ่ายเก่าของงานเวชระเบียน 
  • wikipedia
  • Google
อัพเดตล่าสุด กุมภาพันธ์ 2566
 




++ Flag Counter